Food Tech กับโลกของอาหารที่เปลี่ยนไป

Gloved hands of scientific researcher in whitecoat taking tiny sample of raw vegetable meat during experiment while sitting by table in laboratory

https://www.depa.or.th/th/article-view/food-tech

ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ซึ่งยิ่งการเติบโตของเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นเพียงใด ก็จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีนั้นถูกนำเข้ามาสอดแทรกในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือการที่เทคโนโลยีเข้าไป Disrupt อุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมที่เห็นผลของการ Disrupt ได้ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นอุตสาหกรรมการเงิน ที่เริ่มเห็นธนาคาร เริ่มปิดสาขา เพราะคนหันมาใช้ Online Banking เพิ่มมากขึ้น และอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีกำลังคืบคลานเข้ามาในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้นคือเรื่องของอาหาร หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถือเป็นปัจจัยสี่ต่อการดำรงชีพ และก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังจะถูก Disrupt เช่นกัน โดยในปัจจุบัน “Food Technology” เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การทำอาหารหรือเครื่องดื่มสังเคราะห์ การสร้างอาหารจากการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกและรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารของประชากรทั้งโลกเพิ่มขึ้นกว่า 30% ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของประชากร แน่นอนว่า Food Technology จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีทางด้านอาหารได้ถูกพัฒนาจนสามารถคงไว้ซึ่งสูตรอาหาร อีกทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกต่าง ๆ ให้สามารถผลิตวัตถุดิบได้จากการใส่ข้อมูลทางพันธุกรรมและสั่งพิมพ์ออกมา ดังนั้นเราจึงควรใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการลดของเสียจากอาหารและสร้างการกระจายอาหารที่ยุติธรรมทั่วโลกภายใต้เงื่อนไขที่ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีราคาถูก อุดมสมบูรณ์ สะอาดและมีสุขภาพดี โดยในปัจจุบัน Food Technology ที่ถูกพัฒนาเพื่อมาปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก ประกอบไปด้วย 7 เทคโนโลยี คือ Agricultural Intelligence คือ AI ที่ประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตร ที่จะนำมาปรับเปลี่ยนการเกษตรให้พัฒนาเป็น Smart Farm การพัฒนานวัตกรรม “เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช” (Plant-based meat) Synthetic Food หรืออาหาร-เครื่องดื่มสังเคราะห์ โดยรูปลักษณ์ และรสชาติเหมือนของจริง Digitization of Restaurants คือเทคโนโลยีที่เข้ามาปรับเปลี่ยนและจัดการร้านอาหาร AI – Robots – Recommended Engines – Smart Kiosk เป็นเทคโนโลยี 4 ด้านที่พัฒนา หุ่นยนต์มาเพื่อทำงานให้ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้หุ่นยนต์ในการทำเครื่องดื่ม การตอบคำถามลูกค้า การแนะนำ และการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า Online Food Delivery ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในประเทศไทย ซึ่งสิ่งสำคัญในการให้บริการในธุรกิจนี้ คือ การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถควบคุมคุณภาพผู้ให้บริการ และ Blockchain ที่ใช้ใน Food Supply Chain เพื่อตรวจสอบ และติดตามย้อนหลังถึง “ต้นทาง” ของผลิตภัณฑ์อาหารมาจากไหน แหล่งผลิตจากที่ใด และคุณภาพวัตถุดิบ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางอาหาร และลดขยะอาหาร

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของการเริ่มต้นใช้ประโยชน์จากด้าน Food Technology คือ Impossible Foods จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับทาง Burger King ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า Impossible Whopper Burger ซึ่งเป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่มีรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์ แต่ผลิตจากโปรตีนที่มี heme เลียนแบบรสชาติของเนื้อสัตว์จริง โดยใช้ Food 3D Printing สร้าง Redefine Meat ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ จากการพัฒนาพืชเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบทดแทนเนื้อสัตว์ โดยใช้การผลิตแบบเติมแต่ง (additive manufacturing) ซึ่งสูตรอาหารของ Food 3D Printing จะประกอบไปด้วยส่วนผสมจากพืชที่เลียนแบบลักษณะพื้นผิว และรสชาติของเนื้อ โดยเทคโนโลยีการพิมพ์อาหารนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถออกแบบลักษณะของเนื้อสัตว์ได้ตามความต้องการของฤดูกาล และความต้องการของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้นอาหารที่ทำโดย Food 3D Printing มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเนื้อสัตว์ถึง 95% และเนื้อสัตว์ที่ได้ออกมาจะไร้คอเลสเตอรอลอีกด้วย

อีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยี Food 3D Printing ได้แก่ บริษัท Natural Machines ที่เป็นStartup จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่อง Foodini ที่สามารถผลิตอาหารด้วยวัตถุดิบที่ปลอดภัย จากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและพิมพ์อาหารออกมาผ่านเทคโนโลยี Food 3D Printing ในรูปแบบที่บริโภคได้ง่าย โดยลักษณะการทำงานของเครื่อง Foodini จะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์จากความต้องการของร่างกายว่ายังขาดสารอาหารใดบ้าง และผลิตสารอาหารนั้นผ่านระบบ Food 3D Printing และ Food Robots ออกมาบรรจุใส่แคปซูลหรือรูปแบบที่ผู้บริโภคต้องการ ซึ่งจะได้อาหารที่มีรสชาติที่ดี ตรงกับความต้องการ และดีต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภค โดย Natural Machines ได้ตั้งร้านค้าปลีกแห่งแรกเมื่อปี 2019 และตั้งเป้าขยายออกไปอีกจำนวนอย่างน้อย 20 สาขา

จากตัวอย่างทั้งหมดถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรม Food technology โดยในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ต่างกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนา Food Tech โดยมองกันว่าต่อไป Food – Agri – Bio Tech จะเป็นดิจิทัลใหม่ที่มีมูลค่าใหญ่กว่าดิจิทัลในปัจจุบัน 3 – 4 เท่า เพราะอุตสาหกรรมอาหารครอบคลุม Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงคาดว่ามูลค่า Food Tech ทั่วโลกจะเติบโตมหาศาล จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทย ถ้าเราขยับตัวได้เร็วโอกาสก็จะมาถึงเราก่อน

หากลองย้อนกลับมาในประเทศไทย ถ้ามีการนำเทคโนโลยีทางด้าน Food Technology มาปรับใช้ ภายในประเทศ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสามารถสร้างอาหารขึ้นมาจากการนำสูตรอาหารจากเชฟที่มีชื่อเสียง มาใส่เครื่อง Food 3D Printing แบบที่ Natural Machines พัฒนาอยู่ เพราะประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นครัวโลก อุดมไปด้วยทรัพยากรมากมาย มีร้านอาหารที่ขึ้นชื่อของแต่ละพื้นที่ มีร้านอาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มิชลินไกด์กว่า 280 ร้าน หากเราสามารถนำสูตรอาหารเหล่านั่นมารวบรวมเก็บเป็น Big data และนำมาเชื่อมโยงกับ Food 3D Printing ก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารได้

หากจะหาโครงการในประเทศไทยที่สามารถทำการส่งเสริมให้เกิดปรับประยุกต์ใช้ Food Technology ในอุตสาหกรรม เพื่อเป็นโครงการต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการอาหารในประเทศไทย ก็จะมีโครงการจากทางเชียงใหม่ชื่อโครงการ Northern Thailand Food Valley ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการด้านอาหาร เพื่อสร้าง Ecosystems ด้านอาหาร ชูจุดเด่นของการทำเกษตรเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย หากมีการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ระบบ Food Technology เข้ามามีส่วนช่วยผู้ประกอบการ เช่น เริ่มต้นจากการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าจากไร่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยใช้เทคโนโลยี IoT และ Big data การสร้างระบบอัตโนมัติสามารถรองรับผู้ซื้อและผู้ขายสามารถมาเจอกันได้ ตรวจสอบข้อมูลได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับลูกค้า สร้าง Storytelling ผ่านระบบดิจิทัล ให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการเห็นประวัติของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจบริโภคสินค้า

สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับ Food Technology ที่จะเข้ามามีผลกระทบกับธุรกิจทุกส่วน ดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีแผนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกับนักพัฒนานวัตกรรมในด้าน Food Technology เพื่อรับมือกับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยสร้างการเจริญเติบโตและสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจอาหารแก่ประเทศไทยเป็นอย่างสูง จนอาจจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้ามาเป็นผู้นำทางด้าน Food Technology ก็เป็นได้

โดย นายปรัชญา โกมณี

สาขาภาคเหนือตอนบน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter