Digital Healthcare คือ ความหวังของวงการแพทย์แห่งอนาคต โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่มีการใช้ เทเลเมดิซีน เพิ่มมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเทเลเมดิซีน เติบโตจาก 42 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2019 เป็น 185 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 หรือเฉลี่ยต่อปีกว่า 23.5%
Digital Healthcare ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ ที่จะยกระดับ อุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 มีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้อย่างก้าวกระโดด เช่น แพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น และในปัจจุบันพบว่า หลายโรงพยาบาลมีการทรานส์ฟอร์มนำดิจิทัลเข้ามาใช้กับระบบภายในและการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ “ธนาคารกรุงเทพ” ระบุว่า Digital Healthcare คือ ความหวังของวงการแพทย์แห่งอนาคต ทำให้หลายบริษัททั่วโลก ที่อยู่ในกลุ่ม “Digital Healthcare” มีความต้องการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น
1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรักษา Virtual Care และ Telehealth
2. ธุรกิจด้านการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อสนับสนุนการรักษา การรักษาออนไลน์ จัดเก็บข้อมูลการแพทย์ และขนส่งอุปกรณ์การแพทย์
3. ธุรกิจด้านการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรค
Fortune Business Insights คาดว่ามูลค่าทางการตลาด Telemedicine เติบโตจาก 42 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 เป็น 185 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 23.5%
ทั้งนี้ ทางฝั่งเอเชีย ข้อมูลในปี 2020 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรม Digital Healthcare ของจีนสามารถเติบโตได้สูงถึง 30% ต่อปี หรือ อินเดีย ก็มีบริษัทสตาร์ทอัพด้าน Health Tech รวมเกือบ 5,000 บริษัท และมียอดการระดมทุนกว่า 45%
วานนี้ (19 ก.ค. 65) โรงพยาบาลพระรามเก้า แถลงข่าว ครบรอบ 30 ปี ตอกย้ำการเป็นศูนย์รวมด้านการดูแลสุขภาพครบวงจรยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ได้มีการวางยุทธศาสตร์สู่การเป็น Digital Hospital เต็มรูปแบบ ด้วยการทำ Digital Transformation ปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ พร้อมจับมือพันธมิตรด้านเทคโนโลยี ร่วมสร้างบริการทางการแพทย์ครอบคลุมทุกมิติ
เพื่อให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล โดยพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ Decentralized Healthcare เพราะการบริการเริ่มต้นได้จากที่บ้าน (Home Centric) ทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล เพื่อความสะดวกสบาย เช่น บริการTelemedicine, บริการตรวจประเมินสุขภาพผ่าน Medical Device รวมทั้งสามารถเปิดประวัติหรือทำนัดหมายได้ก่อนมาที่โรงพยาบาล เป็นต้น
เมืองเติบโต หนุนดิจิทัล
นายแพทย์วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า การเจริญเติบโตของเมืองย่านพระราม 9 ออฟฟิศ คอนโด เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ หรือ New CBD คนทำงานรุ่นใหม่ พบเจอปัญหา ด้านสุขภาพ อาทิ ออฟฟิศซินโดรม และส่วนใหญ่ทำการสื่อสารกับทาง รพ. ในช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เป็นที่มาของการเริ่มทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล
“มีการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาล คนที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความทันสมัย ซึ่งสนใจเทคโนโลยี ประกอบกับเทรนด์ของโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และระบบคลาวด์ ต้องเตรียมความพร้อม โดยที่ผ่านมามีการวางแผนจะทำเทเลเมดิซีนไว้ แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เทเลเมดิซีนถูกนำมาใช้ได้อย่างเร็วขึ้น ผู้ป่วยยินดีที่จะใช้เพราะไม่กล้าเข้ามาในโรงพยาบาล แพทย์ก็ยินดีที่จะใช้เช่นกัน กลายเป็นตัวเร่งทำให้เทเลเมดิซีนเกิดได้เร็วขึ้น”
“เทรนด์ด้าน Healthcare มีการเติบโตมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถัดมา คือ เทรนด์ Digital เติบโตด้วยตัวของมันอยู่แล้ว ดังนั้น ทั้งสองเทรนด์ ทำให้ Digital Healthcare เติบโตไปพร้อมกัน”
ยกรพ.ไปไว้ที่บ้าน
นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า อันดับแรก ที่พยายามสนับสนุน คือ การนำโรงพยาบาลไปอยู่ที่บ้านผู้ป่วย ผู้ป่วยของ รพ.พระรามเก้า ส่วนใหญ่เป็นโรคซับซ้อน และอนาคตเป็นสังคมสูงวัย การดูแลใน รพ. อาจจะเดินทางไม่สะดวก ดังนั้น เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยที่บ้าน วัดความดัน ตรวจหัวใจ ชีพจร น้ำตาล อุณหภูมิ ฯลฯ มีปัญหาโรคเรื้อรัง และมีความเสี่ยงจะเป็นโรคจากที่บ้าน โดยใช้เทคโนโลยีไม่เรื่องซับซ้อน รวมถึงนำเทคโนโลยี AI มาช่วยแผนกรังสีอ่านผลเอกซเรย์
ปรับระบบภายใน รพ.
ขณะเดียวกันกลไกสำคัญ ที่จะผลักดันยุทธศาสตร์โรงพยาบาลสู่การเป็น Digital Hospital เต็มรูปแบบ คือ ต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ การทำ Digital Transformation สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อมองเป้าหมายเดียวกันที่เราเรียกกันว่า CAT Culture ได้แก่
C – Collaboration การร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันของบุคลากร รวมถึงการผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อสร้างการบริการที่ดี ครอบคลุมทุกความต้องการ
A – Agility พร้อมปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งวิธีคิดและกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็วให้แก่ผู้รับบริการ
T – Trust ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความใส่ใจ ให้บริการอย่างมีมาตรฐานระดับโลก เพื่อเป็นโรงพยาบาลที่ลูกค้าวางใจได้
พบแพทย์ผ่านเมตาเวิร์ส
ทั้งนี้ นอกจาก เทเลเมดิซีน จะตอบโจทย์การแพทย์ในปัจจุบันแล้ว ในอนาคตมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของ เมตาเวิร์ส มาใช้ในการทำนัด รักษาด้วยจิตแพทย์ ทำให้คนไข้ที่มีความเครียดสามารถปรึกษาแพทย์ได้ โดยดีไซน์ห้องในเมตาเวิร์ส ให้มีลักษณะคล้ายโรงพยาบาล พูดคุย ปรึกษา และรักษา รวมถึงอาจจะมีการส่งยาไปที่บ้าน แม้ว่า เทเลเมดิซีน มีข้อดี คือ สามารถทำให้แพทย์เห็นหน้าคนไข้ได้ แต่บางครั้งไม่เห็นทั้งตัว ไม่เห็นท่าทีต่างๆ แต่เมตาเวิร์ส จะสามารถช่วยให้เห็นได้ชัดเจนกว่า เทรนด์ตรงนี้ จึงได้เตรียมไว้ คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
“ดิจิทัล นอกจากจะช่วยให้เกิดการป้องกันโรคแล้ว ยังช่วยเตือนพฤติกรรม การออกกำลังกาย การพักผ่อน การกิน น้ำตาลในร่างกาย เพื่อให้รู้ปัจจัยเสี่ยง เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ดิจิทัล จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลได้” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าว