BDMS ก่อตั้ง ‘N Health Novogene Genomics ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์’ พัฒนาเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม รับยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งเป้าสู่ Genetic Center แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (BDMS) ดึง บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 ในเครือ BDMS จับมือ บริษัท โนโวยีน เอไอที จำกัด (NovogeneAIT) ก่อตั้ง บริษัท เอ็นเฮลท์ โนโวยีน จีโนมิกส์ จำกัด หรือ NNG (เอ็นเอ็นจี) ศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์ขึ้น
โดยนำเทคโนโลยีอิลลูมินา (Illumina) นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของการวิเคราะห์หาลำดับดีเอ็นเอ และการหาลำดับเพื่อการรักษาโรคที่ใช้อย่างแพร่หลายในแล็บชั้นนำระดับโลกมาใช้ในไทย เพื่อสนับสนุนโครงการ BDMS Genomic Center ยกระดับความสามารถทางการแพทย์ของไทยให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาแบบเฉพาะบุคคล เตรียมให้ความร่วมมือสถาบันการศึกษาทางการแพทย์เพื่อพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรองรับ หวังสร้างให้ไทยก้าวสู่การเป็น Genomic Center แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการใหญ่ BDMS เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2563 – 2583 นั้นประกอบด้วย ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเก็บตัวอย่างพันธุกรรม การตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA sequencing) การจัดทำและกำกับดูแลคลังจีโนมของประเทศ ไปจนถึงการแปลผลเพื่อนำไปใช้ทางการรักษา
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแพทย์จีโนมิกส์ของประเทศ และลดการพึ่งพาห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนยุทธศาสตร์ของภาครัฐในด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับภูมิภาค (Medical Hub)
ด้วยศักยภาพของโรงพยาบาลและคลีนิคในเครือกว่า 54 แห่ง ที่พร้อมให้บริการเก็บตัวอย่างพันธุกรรม แปลผล ให้คำแนะนำในการรักษา และร่วมมือในด้านงานวิจัยต่างๆ ขณะที่ N Health สามารถวิเคราะห์และจัดเก็บผลเพื่อสร้างเป็นคลังจีโนมร่วมกับภาครัฐ อันจะนำประโยชน์ด้านพัฒนาการทางการแพทย์มาสู่ประเทศไทยได้อีกขั้น
ทั้งนี้ การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนของวงการแพทย์อย่างก้าวกระโดดในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชากรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต ตลอดจนการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศ
การแพทย์จีโนมิกส์เริ่มมีการให้บริการในหลายประเทศภายใต้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และสิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ ปี พ.ศ. 2563–2567 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ของประเทศ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์จีโนมิกส์
“การก่อตั้งศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์ในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นของ BDMS ที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถทางการแพทย์ในการดูแลรักษาสุขภาพคนไทย ด้วยการแพทย์แบบจีโนมิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของทาง BDMS ที่ว่าเราเป็นผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่ทุ่มเทและให้บริการด้วยคุณภาพระดับมาตรฐานสากล
โดยเน้นผู้ป่วยเป็นสำคัญควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์นี้ ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์แห่งอนาคตที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลและรักษาสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากจะได้รับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดแบบเฉพาะบุคคลแล้ว NNG จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการแพทย์แบบจีโนมิกส์ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งทาง BDMS เชื่อมั่นว่า NNG จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
BDMS ยังมุ่งสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทางด้านจีโนมิกส์ในประเทศไทยที่ปัจจุบันยังขาดแคลน โดย BDMS และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมถึงคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หารือเพื่อจัดทำแผนการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคคลกรด้านจีโนมิกในประเทศไทยในวันที่ 12 ก.ย. 2565 ซึ่งจะเปิดหลักสูตรให้กับบุคลากรทั้งในเครือข่ายและนอกเครือข่ายได้พัฒนาความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวต่อไป” พญ.ปรมาภรณ์ กล่าวเสริม
ด้านณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 บริษัท BDMS กล่าวว่า ประเทศไทยมีการตรวจวิเคราะห์ยีนเฉพาะบุคคลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งการตรวจดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ต้องนำยีนดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ยังห้องแล็บในต่างประเทศ ผู้ใช้บริการจึงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูง ประกอบกับใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน บางครั้งอาจไม่ทันท่วงทีกับการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคร้าย
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการก่อตั้งศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์นั้น ยังช่วยให้ไทยมีคลังจีโนมที่แข็งแกร่ง เพื่อนำไปใช้พัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย