เปิดพื้นที่การเรียนรู้ ธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมติดอาวุธผ่านร้านค้าออนไลน์ “INNOMALL” จาก “NIA” “SHOPEE” และ “SCC” จาก “NIA” “SHOPEE” และ “SCC”
สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด เปิดตัว “INNOMALL” ร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งได้รวบรวมสินค้าและบริการนวัตกรรมมากถึง 187 รายการ จากผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA กว่า 72 บริษัท พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสร้างความสามารถด้านการทำธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ประกอบการนวัตกรรม” เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้การทำธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยผู้ประกอบการนวัตกรรมจะได้รับสิทธิเข้าถึงองค์ความรู้ เครื่องมือ และกลไกการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ตลอดจนสามารถเพิ่มฐานลูกค้าด้วยการสร้างการรับรู้ของสินค้าและบริการนวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้น
รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการ “INNOMALL” จะเป็นตัวอย่างของกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมเพิ่มเติมจากด้านการเงิน (Non-Financial Support) ที่จะช่วยผู้ประกอบการนวัตกรรมในการปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนโฉมทางดิจิทัล (Digital Transformation) ที่กำลังเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมากในการขายสินค้าจากหน้าร้าน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมมีช่องทางขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อช่วยลดปัญหาต้นทุนหน้าร้าน และสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าด้วยการสร้างการรับรู้ของสินค้าและบริการนวัตกรรมให้มากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้รับความร่วมมือจาก ช้อปปี้ แพลตฟอร์มอันดับ 1 ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ติดตามมากถึง 18 ล้านราย ทำให้ร้านค้า INNOMALL ได้รับความน่าเชื่อถือ และอีกหนึ่งพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผู้ให้บริการและบริหารจัดการ Fulfillment ให้กับร้านค้าต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำระบบบริหารจัดการให้กับคนดังมากมาย ที่จะเข้ามาช่วยดูแลระบบบริหารจัดการของ INNOMALL ของเรา”
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “วิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบในการดำรงชีวิตให้กับผู้คนทั่วโลกอย่างมากมาย เกิดเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น คือ เกิดการจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ ในการค้าการขาย ร้านค้าที่เคยมีหน้าร้านต้องปิดตัวลงไปจำนวนมาก ทุกคนต่างต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่เพื่อให้ยังอยู่รอดในตลาด แพลตฟอร์มออนไลน์จึงเป็นคำตอบนี้ แต่ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ที่เมื่อผู้ประกอบการเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว จะทำอย่างไรให้ร้านค้าสามารถอยู่รอดได้ เพราะไม่ใช่ทุกรายที่กระโดดเข้าไปจะอยู่รอดและเติบโตได้ดังจินตนาการ อันดับแรกผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) จากวิธีดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่แค่เพิ่มลดเวลาเปิดปิดร้านค้า ลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด หรือลดเงินเดือนพนักงานอีกต่อไป แต่หากเป็นการเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนวิถีชีวิตไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านมือถือและแท็บเล็ตที่เปรียบเสมือนอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ไปแล้ว
NIA เข้าใจถึงความท้าทายในการปรับตัวครั้งนี้ จึงได้ทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ด้วยการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม (System Integrator) เชื่อมโยงผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA เข้ากับ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เบอร์หนึ่งของประเทศไทย และผู้ให้บริการและบริหารจัดการ Fulfillment ชั้นนำของประเทศไทย ให้เข้าถึงกระบวนการทางนวัตกรรม (Innovation Process) และเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งแต่การตั้งร้านค้าออนไลน์ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ปรับกลยุทธ์ให้สามารถสร้างสรรค์การตลาดให้เหมาะสม และวัดผลเพื่อนำมาปรับปรุง หรือพัฒนาสินค้านวัตกรรมให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูง”
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ได้พัฒนา “INNOMALL” ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม ในการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือร้านค้า (Official Store) บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ ที่ได้ทำการรวบรวมสินค้าและบริการนวัตกรรม 187 รายการ จากผู้ประกอบการนวัตกรรมมากกว่า 72 บริษัท ส่วนที่สองเป็นพื้นที่การเรียนรู้เสมือนจริง (Sandbox) ด้านการสร้างธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยการเรียนรู้จริง วางแผนจริง และลงมือปฎิบัติจริง ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 โปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator Program) สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้ ได้แก่ 1. แนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2. เครื่องมือการขายสินค้าผ่านโซเชียลและไลฟ์คอมเมิร์ซ 3. การตลาดและการพัฒนาเนื้อหาในการขายสินค้า 4.การบริหารจัดการคลังสินค้า 5.ข้อกำหนดและระเบียบการซื้อขายออนไลน์ และ 6. การประเมินและวัดผลผู้สนับสนุน และเฟสที่ 2 โปรแกรมส่งเสริมทักษะขั้นสูง (Enabler Program) ที่จะช่วยฝึกทักษะการวางแผนหรือการจัดกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้บริโภครู้จักสินค้านวัตกรรมได้มากยิ่งขึ้น เช่น ทักษะด้านการไลฟ์ (Live Commerce) ทั้งนี้ NIA คาดหวังว่าสินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ จะมีอัตรายอดขายสินค้าหรือบริการนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 % จากยอดขายเดิม และยังสามารถเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรมสู่การลงทุน และการสร้างการเติบโตบนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation)”
นายศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า “ด้วยพันธกิจหลักขององค์กรในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทย ช้อปปี้ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยืนหนึ่งในใจนักช้อปชาวไทย เรามุ่งมั่นในการพัฒนาและสร้างโลกอีคอมเมิร์ซให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับทุกคน อีกทั้งยังตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐฯและพันธมิตรธุรกิจ เพื่อช่วยกันสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้สามารถสร้างธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีศักยภาพและสามารถเติบโตในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป”
นายนัยพงษ์ กองบุญมา กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทสุขสวัสดิ์ กล่าวว่า “บริษัทฯ มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ e-Commerce, Social Commerce และ Live Commerce ซึ่งเป็นอนาคตของการซื้อขายสินค้าและบริการที่มีความเป็นนวัตกรรม บริษัทฯ มีหน่วยธุรกิจของเครือข่ายในกลุ่มบริษัท ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่พร้อมร่วมขับเคลื่อนผู้ประกอบการฯ ให้สามารถต่อยอดธุรกิจสำหรับตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศอีกด้วย สำหรับโครงการนี้ กลุ่มบริษัทสุขสวัสดิ์มีความยินดีที่จะร่วมมือกับ NIA ในการพัฒนาผู้ประกอบการฯ เพื่อสนับสนุนภารกิจให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ 1. การเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการฯ ให้สามารถเข้าถึงการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น 2. การพัฒนาความรู้ เสริมสร้างทักษะ และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล 3. การขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม รวมถึงเสริมศักยภาพในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
NIA มีความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในธุรกิจนวัตกรรม ในการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมอย่างเป็นระบบอันก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าต่อประชาชนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์