บริษัท Aero Technology Industry หรือ ATIL เปิดตัวอากาศยานไร้คนขับจำนวน 3 ลำใน Defense and Security 2022 เป็นครั้งแรก โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทย และเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพไทยและตลาดส่งออกทั่วโลก โดยเปิดตัวรุ่น DP20 ที่ทำการส่งให้กองทัพบกทดลองใช้แล้วในขณะนี้ และจะส่งรุ่น DP20-A ซึ่งสามารถติดอาวุธได้ให้กับกองทัพบกในปีหน้า นอกจากนั้นยังมีรุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าอย่าง DP16 ที่สามารถติดอาวุธได้เช่นกัน รวมถึงโดรนลำเลียง DP26 สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์
คุณปิยะพงษ์ ปานหยวก กรรมการบริหารของ ATIL กล่าวว่า
“ปัจจุบัน DP20 เข้ารับการทดสอบและประเมินค่าจากกองทัพบกไทย ส่วน DP20A จะเข้ารับการทดสอบและประเมินค่าแบบเดียวกันในปีหน้า ในฐานะบริษัทของคนไทยที่มีพันธมิตรที่มีขีดความสามารถจากจีน เรากำลังจัดตั้งสายการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบในจังหวัดปทุมธานี โดยนักวิจัยทั้งไทยและจีนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนายูเอวีในทุก ๆ มิติ และเรากำลังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI เนื่องจากชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของยูเอวีนั้นจะผลิตในประเทศไทยโดย ATIL และบริษัทไทยหลายบริษัท ซึ่งทำให้เราสามารถนำเสนอโซลูชั่นการบริการที่รวดเร็วเพื่อสนับสนุนลูกค้าของเราทั่วโลก”
DP20 เป็นโดรนที่มีขนาดใหญ่ บินได้นาน 20 ชั่วโมง เมื่อใช้การควบคุมผ่านดาวเทียมสามารถบินได้ไกล 2,000 กิโลเมตร ติดตั้งกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงที่สามารถทำการชี้เป้าและระบุตำแหน่งได้ โดยการออกแบบนั้นวิศวกรของไทยได้ออกแบบต่อยอดจากวิศวกรจีนและโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการออกแบบแพนพางระดับใหม่เป็นรูปตัววี ส่วน DP20-A นั้นเป็นรุ่นติดอาวุธที่บินได้นาน 36 ชั่วโมง และบรรทุกจรวดแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กแต่ประสิทธิภาพสูงได้ถึง 16 นัด ซึ่งทำให้ DP20-A มีขีดความสามารถเป็นได้ทั้งโดรนตรวจการณ์และโจมตี
นอกจากนั้น ATIL ยังออกแบบ DP16 ซึ่งมีขนาดเล็กลง ซึ่งจะเหมาะสมกับภูมิประเทศในแถบอินโดจีนที่พื้นที่ไม่ได้กว้างขวางนัก และสามารถติดอาวุธได้เช่นกัน ทำให้ DP16 จะมีขีดความสามารถที่ใกล้เคียงกับ DP20/20-A แต่มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่ประหยัดกว่า
คุณปิยะพงษ์ ยังยืนยันว่า นอกจากตลาดในประเทศไทยที่ ATIL ให้ความสำคัญและแสวงหาโอกาสเพื่อนำเสนอโดรนของบริษัทให้กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยใช้ความได้เปรียบของการผลิตในประเทศและการมีอะไหล่สนับสนุนอย่างรวดเร็วแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการเปิดสายการผลิต โดยพันธมิตรของ ATIL จากประเทศจีนจะช่วยทำตลาดในระดับโลก ซึ่งในปัจจุบันมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาแล้วในโดรนบางแบบจากตะวันออกกลาง หรือ DP26 ซึ่งเป็นโดรนเพื่อการขนส่งสำหรับธุรกิจขนส่งและลำเลียงที่กำลังเติบโต โดยมองประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวางและเป็นเกาะจำนวนมากอย่างอินโดนีเซียเอาไว้
“เราได้รับความสนใจและคำสั่งซื้อจากหลายประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่มาจากประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งมีคำสั่งซื้อเพียงพอที่จะเปิดสายการผลิตไปอีกหลายปี นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมยูเอวีในประเทศไทย โดยมี ATIL เป็นผู้นำ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของเรา” คุณปิยะพงษ์
ATIL กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างโรงงานในจังหวัดปทุมธานี รวมถึงมองหาบริษัทไทยที่จะเป็นพันธมิตรในการผลิตชิ้นส่วนโดรนอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : https://thaiarmedforce.com/2022/08/29/ds2022-atil-unveil-the-uav-portfolio/