EEC จะเป็นพื้นที่นำร่องของประเทศไทยในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมถึงเป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้มีการกำหนดแผนพัฒนา “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย” หรือ EECd หรือ Digital Park Thailand ให้เป็นส่วนหนึ่งของ EEC
ทั้งนี้ EECd จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและ นวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์ นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย รวมถึงยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีไปสู่ “อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่” (New S-Curve Digital Industry) รวมถึงเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยมุ่งเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการร่วมผลิตและแบ่งปันการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสนามทดลองนวัตกรรมดิจิทัล เช่น การทดสอบต้นแบบอุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์ในสภาพแวดล้อมจริงก่อนนำไปใช้งาน
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ (Thailand Digital Valley) ในพื้นที่ EECd จะเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เอื้อต่อการลงทุน และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน
“ตอนนี้เริ่มมีบริษัทเอกชนเข้ามาขอเช่าพื้นที่เต็มหมดเรียบร้อยแล้ว อาทิ ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เฮาท์, บริษัทที่เกี่ยวกับดิจิทัลมีเดีย, บริษัทออกแบบที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ชิป หรือกลุ่มฮาร์ดแวร์, บริษัทสตาร์ทอัพ 4 บริษัท”
นอกจากนี้ มีศูนย์ 5G แอปพลิเคชั่น ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS โดยใช้พื้นที่นำเสนอเทคโนโลยี 5G เพื่อให้บริการใน EEC ดังนั้นตึกนี้จะเป็นช่องทางการต่อยอดให้ “กลุ่มธุรกิจสีเขียว” พร้อมเป็นเซอร์วิส โพรไวเดอร์ ให้บริการสมาร์ทซิตี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ ดีป้า ได้นำไปใช้อย่างมีความคุ้มค่าและได้กระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย (People First)